การลงทุน ICO คืออะไร และแนวโน้มในประเทศไทย

การเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO (Initial Coin Offering) มันคือการระดมทุนและลงทุนเพื่อที่จะเปิดตัวโปรเจคโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิตอล (ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีฐานเป็น Ethereum) มาเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตัวโปรเจคดังกล่าว (หรือแม้กระทั่งบริษัท) กล่าวคืออาจจะคล้ายคลึงกับ IPO หรือ Initial Public Offering ที่เรารู้จักกันดี เพียงแต่ตัวหุ้นนั้นจะถูกแทนที่ด้วยเหรียญดิจิตอล และสามารถนำไปแลกหรือซื้อขายเป็นเหรียญสกุลอื่นๆได้อย่าง Bitcoin

มันต่างจากการเสนอขายหุ้นในระยะเริ่มต้นหรือ IPO โดยการได้มาซึ่งเหรียญไม่ได้แปลว่าเรามีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในหุ้นส่วนของบริษัทที่กำลังสร้างเงินดิจิตอลสกุลใหม่นั้นๆ IPO นั้นถูกรองรับโดยรัฐบาล แต่ ICO นั้นยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอนมารองรับรับมัน

การระดมทุน ICO เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Mastercoin ในปี 2013 และในปีต่อมา Ethereum ก็ระดมทุน ICO เช่นกัน

การระดมทุน ICO ค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งการขายเงินดิจิตอลแบบนี้ดูเหมือนจะสร้างกำไรได้ดีกว่าและเร็วกว่าการระดมทุนด้วยหุ้น เนื่องจากการใช้เหรียญ cryptocurrency ที่มีความรวดเร็วในการโอน ใครจะซื้อก็สามารถซื้อได้ แค่เข้าไปในเว็บซื้อขายและโอนเหรียญ Ethereum ของผู้ลงทุนเข้าไป แค่นี้ก็ได้เหรียญ ICO ของบริษัทนั้นๆมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีการลงทะเบียนหรือเซ็นสัญญาอะไรให้ยุ่งยาก ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระดับที่รวดเร็วมาก ดั่งเช่นตัวอย่างของเหรียญ BAT ก่อนหน้านี้ที่ขายเหรียญ ICO ของพวกเขาหมดภายในระยะเวลา 30-40 วินาที และระดมทุนไปได้กว่า 35 ล้านดอลลาร์

กล่าวสรุปง่ายๆ

วิธีการระดมทุนในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ลงทุนเห็นโอกาสในวิธีทำกำไรอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลของสภาพคล่อง โดยปกติการระดมทุนแบบดั้งเดิมผู้ลงทุนจะต้องเดิมพันกับบริษัทนั้นๆไปจนกว่าบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือถูกขาย แต่ด้วยวิธีนี้ผู้ลงทุนจะสามารถขายเหรียญที่ได้เมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการ โดยเปลี่ยนเป็น BITCOIN, ETHEREUM หรือเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอเหมือนวิธีดั้งเดิม

ICO ยังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ open source project (โปรแกรมที่อนุญาติให้ดัดแปลง source code ได้) ตอนนี้มีนักพัฒนามากมายที่กำลังพัฒนาโปรเจคต่างๆของพวกเขา ซึ่งการใช้โค้ด open source นี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วยิ่งถ้ามีโปรเจคที่สำเร็จมากเท่าไหร่ ก็จะมีผู้สนใจในตลาดนี้มากขึ้นและทำให้ผู้ร่วมลงทุนได้ประโยชน์มากขึ้น ตอนนี้โปรเจคสำเร็จที่ใช้วิธีระดมทุนโดย ICO นั้นมีให้เห็นอย่างชันเจนอย่าง Ether ซึ่งมูลค่าทางการตลาดของ Ether ได้เพิ่มขึ้นถึง 500% จากมูลค่าของมันในต้นปี แต่กระนั้นทุกๆอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว

แม้ว่าทาง SEC จะออกมาควบคุมการลงทุนแบบดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเนื่องจากมองว่าการออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สูญเสียความเป็นอิสระไป ในขณะที่บางกลุ่มก็บอกว่านั่นเป็นเรื่องดี เพราะภายหลังจากที่ ICO เกิดความบูมขึ้นมานั้น ก็ทำให้มีธุรกิจประเภทหลอกลวงนำเอาชื่อ ICO มาแอบอ้าง และหลอกเอาเงินจากนักลงทุนไป ซึ่งการทำให้ถูกกฎหมายนั้น จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในช่องโหว่ตรงนี้ได้

ICO กับกฎหมายในต่างประเทศและการรองรับ
ก่อนหน้านี้ Security Exchange Commission (SEC) แห่งประเทศสหรัฐฯได้ออกมาประกาศให้เหรียญที่ถูกวางขายใน ICO (DAO Tokens) นั้นตกอยู่ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนแล้ว รวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศสิงคโปร์ก็ได้ออกมากล่าวในลักษณะเดียวกัน

มีรายงานว่าบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐฯได้รับโทรศัพท์จาก SEC ให้ทำการยกเลิกการขาย ICO เสีย และคืนเงินที่ระดมทุนมาได้ให้กับนักลงทุนทั้งหมด มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องยอมปฏิบัติตาม

ส่วนประเทศจีนถือเป็นประเทศแลกของโลกที่ออกมาแบน ICO เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2017 โดยให้เหตุผลว่าการซื้อขาย ICO นั้นละเมิดกฎหมายด้านการระดมทุนของประเทศจีน อีกทั้งยังสั่งให้บริษัทที่ระดมทุนผ่าน ICO มาก่อนหน้านี้คืนเงินให้กับนักลงทุนให้ครบอีกด้วย โดยคืนเป็น Bitcoin และ Ethereum ส่งกลับไปยัง address ที่เคยส่งมา

ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานประเทศเกาหลีใต้ก็ออกมาเดินรอยตามประเทศจีน โดยสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศทำการระดมทุนด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งพูดง่ายๆก็คือแบน ICO เหมือนประเทศจีนนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ประเทศออสเตรเลียดูเหมือนว่าจะไม่สนใจการตัดสินใจของจีนนัก แต่กลับสนับสนุนการระดมทุนแบบ ICO โดยไม่นานมานี้ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกแนวทางเกี่ยวกับข้อกฎหมายในด้านการระดมทุนแบบดังกล่าวสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศที่ต้องการจะออกเหรียญเป็นของตัวเอง และยังมองว่ามันมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

มูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยหลังจากความสำเร็จในการระดมทุน ICO ของบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆบริษัทที่เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มีบริษัทหลายๆบริษัทอยากจะกระโดดเข้ามาในตลาดที่กำลังไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็วนี้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ Stox ที่ได้มีการนำเอานักมวยชื่อดังอย่าง Floyd Mayweather มาช่วยโปรโมทการซื้อขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์ภายในระวะเวลาชั่วข้ามคืนอีกด้วย

ข้อมูลจาก CoinDesk ได้เผยให้เห็นว่ามูลค่าตลาดรวมของการลงทุนแบบ ICO ณ เวลาที่กำลังอัพเดตข้อมูลอยู่นี้ พุ่งไปแล้วกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเดือนที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดรวมภายในเดือนเดียวอยู่ที่ 540 ล้านดอลลาร์

อีกทั้งยังมีการนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบใช้ Venture Capitalist (VC) ในวงการบริษัทสตาร์ทอัพ Blockchain ที่มีอัตราเติบโตที่ถดถอย เนื่องมาจากการกระแสของ ICO โดยหลังจากไปแตะจุดสูงสุดที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ตัวเลข 107 ล้านดอลลาร์ที่มีการลงทุนในกลุ่มธนาคาร R3 นั้น การระดมทุนในบริษัทด้าน Blockchain แบบเก่านั้นมีตัวเลขทั้งหมดแค่ 6.12 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น

แล้วความเสี่ยงล่ะ
แม้ว่า ICO ที่เปิดระดมทุนในประเทศสหรัฐฯนั้นจะต้องขึ้นทะเบียนกับทาง SEC ให้ถูกกฎหมายเสียก่อนถึงจะมาเปิดได้ แต่ด้วยธรรมชาติของเหรียญ cryptocurrency ที่สามารถโอนส่งหากันทั่วโลกได้ในระดับวินาทีอีกทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวสูงไม่สามารถทราบชื่อผู้โอนผู้รับนั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในประเทศอื่นๆหรือว่าใครก็ตามที่ต้องการจะซื้อ ICO นั้นสามารถทำได้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ซึ่งแน่นอน ความเสี่ยงในเรื่องแบบนี้ก็ต้องตามมา

โดยส่วนใหญ่นั้นความเสี่ยงจะตกอยู่กับบริษัทสตาร์ทอัพผู้ที่เสนอขายเหรียญ ICO มากกว่า เนื่องด้วยการที่พวกเขาต้องสร้างระบบแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเหรียญมาในรูปแบบเว็บไซต์ การแฮคเว็บไซต์นั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการแฮคเว็บกระเป๋าเก็บเหรียญ Ethereum นามว่า Parity ที่ทำให้บริษัทผู้ลงทุนที่เก็บเหรียญ Ethereum ของพวกเขาไว้บนกระเป๋าแบบ multi-sig ของผู้ให้บริการดังกล่าวถูกจโมยไปด้วย โดยหนึ่งในนั้นก็มีบริษัท Swam City ที่ถูกขโมยเหรียญ Ethereum ไปกว่า 44,000 ETH และภายหลังจากนั้นก็มีบริษัท Veritaseum ที่ถูกขโมยเหรียญ VERI หรือเหรียญ ICO ของพวกเขาเอง โดยสูญเสียไปกว่า 8 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีบางคนออกมาบอกว่าการขโมยนั้นเกิดขึ้นในบริษัทของพวกเขาเองก็ตาม

ที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นของ CoinDash ที่ถูกแฮคเว็บไซต์ในวันที่เปิดขาย ICO วันแรกเลยทีเดียว โดยการแฮคนั้นเป็นการฟิชชิ่ง address ของกระเป๋า Ethereum ของทางบริษัท โดยแอบเปลี่ยนจุดหมายปลายทางของผู้รับจากบริษัทให้กลายเป็นของแฮคเกอร์ ทำให้นักลงทุนที่อยากจะซื้อเหรียญนี้ กลายเป็นส่ง ETH ของพวกเขาไปให้แฮคเกอร์แทน โดยภายหลังทาง Coindash ต้องเสียหายไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

สำหรับทางมาตรการป้องกันของผู้ใช้งานนั้น ทางที่ดีผู้ลงทุนควรที่จะทำการศึกษาที่มาของบริษัท ICO ที่จะลงทุน ว่ามีการจดทะเบียนกับประเทศที่มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) และควรที่จะเก็บเหรียญ Ether ของคุณไว้บนกระเป๋าของตัวเองให้ปลอดภัย ไม่ควรจะโอนไปเก็บไว้บนเว็บเทรด หรือเว็บผู้ให้บริการกระเป๋าแบบออนไลน์ทีละมากๆ

ICO ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยนั้น การลงทุนแบบ ICO อาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทว่าก็มีบริษัทที่มีรากฐานในไทยอย่าง Omise หรือหนึ่งในผู้ให้บริการด้าน payment gateway ที่ก่อนหน้านี้เคยซื้อธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Paysbuy มาแล้ว เป็นผู้ออกเหรียญ OmiseGo (OMG) และเปิดขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์

โดยเหรียญดังกล่าวในปัจจุบันนั้นยังเป็นที่นิยมพอสมควรอีกด้วย ซึ่งราคาของมันนั้นได้พุ่งขึ้นมาอย่างรุนแรงมาที่ 12 ดอลลาร์และมีมูลค่าตลาดรวมที่พุ่งขึ้นมาถึง 1 พันล้านดอลลาร์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักๆนั้นมาจากข่าวลือที่ว่าทางบริษัท Omise นั้นกำลังเตรียมเป็นหุ้นส่วนกับ McDonald’s ในการทำ payment gateway จ่ายซื้ออาหารได้ด้วยเหรียญ OMG

ซึ่งข่าวลือดังกล่าวนั้น ภายหลังทาง Omise ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการถึงการร่วมงานกันอย่างเป็นทางการแล้ว

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีท่าทีที่อ่อนข้อลงให้กับวงการ Fintech มากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายวิรไท สันติประภพหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมากล่าวว่าทางแบงก์ชาติกำลังเตรียมเล็งเสนอเปลี่ยนกฎหมายทางด้าน Fintech เพื่อให้การอนุมัติเอกสารถูกทำบนอิเลกทรอนิกส์เพื่อมาแทนที่ระบบกระดาษ อีกทั้งยังบอกว่าจะศึกษา Bitcoin อีกด้วย อีกทั้งยังมีการประกาศเปิด Regulartory Sandbox เพื่อเอาเทคโนโลยี Blockchain มาทดสอบอีกด้วย

และที่น่าสนใจที่สุดก็คือทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก่อนหน้านี้เคยออกมาประกาศแสดงความเห็นเกี่ยวกับการระดมทุนแบบ ICO ที่ค่อนข้างเป็นบวก โดยบอกว่าการวิธีการดังกล่าวนั้นช่วยตอบโจทย์ด้านการระดมทุนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ แม้ว่าจะออกมาเตือนว่า ICO บางตัวนั้นอาจจะเข้าข่ายกฎหมายหลักทรัพย์ (securities) และความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของการฉ้อโกงก็ตาม

ซึ่งนั่นหมายความว่านักลงทุนในไทยสามารถที่จะซื้อขายเหรียญ ICO ได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันบริษัทสตาร์ทอัพในไทยที่ต้องการจะระดมทุนด้วยวิธีดังกล่าวจะต้องทำให้แน่ใจว่าเหรียญที่ออกมานั้นไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายสินทรัพย์ ซึ่งทางที่ดีควรจะต้องมีการปรึกษาทาง ก.ล.ต. ก่อนเพื่อความแน่ใจ

โดยทั้งหมดนี่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยของเรานั้นอาจจะกำลังค่อยๆเปิดอ้าแขนให้กับ ICO อย่างช้าๆ และอีกไม่นานนี้ เราอาจจะได้เห็นบริษัทอีกหลายๆบริษัทในไทยออกมาเปิดระดมทุน ICO เพิ่มขึ้นก็ได้

อัพเดตล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2017

ที่มา: https://siamblockchain.com/

Leave a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.